การค้ามนุษย์กับธุรกิจไทยในปัจจุบัน (3/4)
วันนี้จะมาคุยถึงแรงผลักดันว่าทำไมธุรกิจจะต้องใส่ใจเรื่องการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง รวมทั้งเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจและบทบาทของแต่ละภาคส่วนกันค่ะ
ตัวที่ผลักดันเรื่องนี้มาจากตรงไหนกันแน่ ?
ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากต่างประเทศ เพราะ ILO (International Labour Organization) ถือว่าเป็นองค์กรระหว่างประเทศ หรือพวก UN ต่าง ๆ มี SMEs บางแห่งทำได้ดีมาก เพราะต้องการส่งออกไปยังตลาดที่ยุโรป ก็ต้องทำตามภาคบังคับของเขา บางครั้งก็มองว่านี่เป็นการกีดกันธุรกิจทางการค้าแบบใหม่
จากประสบการณ์ คุณ Pan ยอมรับว่าเป็นคำถามที่ค่อนข้างตอบยาก ส่วนใหญ่แล้วมาจากอเมริกา ยุโรป ที่มีกฎหมายทางนี้ออกมา แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็คือผู้ประกอบการในไทยก็มี pressure สูง เพราะรัฐบาลไทยต้องการเร่งขับเคลื่อนในเรื่องนี้ บางธุรกิจก็ไม่มีทรัพยากรพอที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานในระยะเวลาที่เร็วขนาดนั้น
ดังนั้น ธุรกิจต้องพร้อมเรื่องเงินทุนและเรื่องกำลังคนจึงจะทำให้ผ่านตามมาตรฐานเหล่านี้ได้ นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการเล็ก ๆ อาจมีปัญหาในการขยายตลาดการส่งออก
คุณ Pan ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า แรงผลักดันที่มาจากฝั่งอเมริกากับยุโรป จะมีกฎหมายอยู่ 2 ประเภทหลักๆ
ประเภทแรกเรียกว่า การเปิดเผยข้อมูล ว่าบริษัทได้ take action ในประเด็นเหล่านี้ยังไงบ้าง แล้วนี่คือเหตุผลว่าทำไมหลายๆ บริษัทที่มีการขายของในยุโรป ในอเมริกา ถึงได้เริ่มมาดู supply chainในไทยว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน แล้วทำยังไงจึงขับเคลื่อนให้มีมาตรฐานตรงนี้ได้ ตัวอย่างเช่น UK modern slavery act ที่บังคับให้ธุรกิจที่ขายของในอังกฤษต้องเปิดเผยตรงนี้
ประเภทที่สอง เป็นอีกกฎหมายหนึ่งที่ค่อนข้างน่ากลัวก็คือ US Customs regulations แม้แค่สงสัยว่ามีความเสี่ยง ทางศุลกากรเขาดำเนินการได้เลย ปีที่แล้วก็มีเคสที่เขาหยุดเรือขนส่งสินค้าไม่ให้เข้าอเมริกาด้วย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ sensitive กับเวลา เช่น สินค้าแฟชั่น
สินค้าเหล่านี้ ถ้าเกิดมาช้าไปเดือนหนึ่งก็ใช้ไม่ได้แล้ว นี่ก็คือเงินที่หายไปอย่างชัดเจนมาก
จะไม่ใช่เป็นแค่เรื่องชื่อเสียงแล้ว
เมื่อถามว่าผู้ประกอบการไทยเข้าใจหรือมีมุมมองต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องสิทธิแรงงานกันยังไงบ้าง
คุณ Pan เปิดเผยว่า โดยรวมคนไทยมีการตื่นตัวมากขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายเหมือนกัน ถ้าเอาแบบแรง ๆ ก็ยังมีผู้ประกอบการบางรายบอกว่า การที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทยนี้ เขามีงานทำก็บุญแล้ว ในบางอุตสาหกรรม พอเข้าไปตรวจสอบจะเห็นชัด ๆ ว่า เขาไม่ได้จ่ายเงินตามค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งตรงนี้ผิดกฎหมาย แต่เขาก็มีกลไกที่จะหลบเลี่ยง ส่วนกรณีเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างแรงงานข้ามชาติกับแรงงานไทยก็ยังเจอบ่อย ๆ
เรื่องความเห็นของผู้ประกอบการบางรายที่มีมุมมองอย่างนี้น่าสนใจมาก ๆ นะคะ พรุ่งนี้เราจะมาคุยกันต่อค่ะ