Climate apartheid และการอพยพย้ายถิ่น
Climate apartheid will only lead to more tragedies in the Mediterranean
The Guardian: 4 Sept 2019
สิ่งที่เธอเห็นจากเรือของเธอในแถบเมดิเตอร์เรเนียนแค่เป็นจุดเริ่มต้นของเท่านั้น
Carola Rackete กัปตันเรือ Sea-Watch 3 ที่เป็นผู้หญิงอายุเพียง 31 ปี ชาวเยอรมัน ถูกทางการอิตาเลียนจับกุมเนื่องจากได้ทำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองของลิเบีย 40 คนที่ลอยคออยู่ในทะเล
เธอกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการสืบสวนสอบสวนจากทางการอิตาลี ซึ่งถามว่าเธอกลัวหรือกังวลมั้ย? เธอก็ตอบว่าไม่ เพราะการกระทำของเธอคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เธอกลัวคือการกระทำของพวกเราต่างหากที่ทำต่อดาวเคราะห์ดวงนี้ และการไม่ต้อนรับผู้คนที่หนีภัยแล้ง ภาวะอดอยาก ไฟ หรือ พายุ สำหรับเธอแล้ว อันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเชื่อมโยงการความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือผู้คนที่พยายามข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
คนมากมายกำลังกังวลกับความเชื่อมโยงระหว่างการอพยพย้ายถิ่นฐานและวิกฤติสภาพอากาศ โดยกลัวว่าจะก่อให้เกิดการเกลียดกลัวคนต่างชาติและนโยบายข้ามแดนที่เข้มข้นขึ้น แต่ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเกิด เพราะมันเกิดขึ้นแล้วตอนนี้ เธอเห็นมันด้วยตาของเธอเอง ในผู้คนที่เธอดึงขึ้นมาจากทะเล และในกลุ่มคนที่สายเกินไปที่จะช่วย
ในสถานการณ์ที่ผู้คนกระเสือกกระสนที่จะเอาชีวิตรอด วิกฤติสภาพอากาศซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้ว ด้วยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การขาดแคลนน้ำ การทำลายล้างของพายุ ที่เราก็ได้เห็นจากดอเรียนที่ถล่มบาฮามาส หรือการเกษตรกรรมที่ล้มเหลว โดยผู้คนที่อยู่ในภูมิภาคที่ล้าหลังและขาดการพัฒนาที่สุดของโลก ผู้คนซึ่งไม่ได้มีส่วนในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อน คือคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบนี้
พายุที่ถล่มโมซัมบิค ภัยแล้งในโซมาเลีย ที่คร่าชีวิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่ของประเทศ และคลื่นความร้อนในอินเดีย เป็นเพียงการเริ่มต้นของสิ่งที่จะตามมา หากเราไม่เลิกปั๊มก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโลก ผู้คนมากขึ้นทุกวันจะต้องย้ายถิ่นฐาน เพียงเพื่อเอาชีวิตรอด
ผู้คนเริ่มย้ายถิ่นฐาน จากต่างจังหวัดเข้าสู่ตัวเมือง หรือย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน มีเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่เดินทางระยะไกล เพื่อย้ายถิ่นฐาน แต่ก็มักจะไปติดอยู่ที่กำแพงขนาดใหญ่ตรงชายแดนของประเทศที่เป็นคนก่อปัญหานี้ขึ้นมา กลุ่มประเทศที่อยู่ทางเหนือ ที่ไปประกาศชัยชนะและสร้างอาณานิคมในยุคล่าอาณานิคม ก็ยังคงกดหัวประเทศเหล่านี้ ให้อยู่ภายใต้อาณัติในรูปแบบของการเป็นหนี้ ทำลายสิ่งจำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของคนหมู่มาก เพื่อสนองวิถีชีวิตหรูหราที่สร้าง carbon footprint จำนวนมาก
เราได้ยินอยู่เรื่อย ๆ ว่าผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพเสียชีวิตอยู่ที่สถานที่พักชั่วคราวของชายแดนประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อเมริกา หรือจมน้ำเสียชีวิตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่ปัจจุบันเป็นพรมแดนที่อันตรายที่สุดในโลก วิธีของภาครัฐในการบริหารจัดการเรื่องนี้ไม่ดีพอ และหากภาครัฐไม่ร่วมมือในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการอพยพที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับวิกฤติสภาพอากาศทั้งหมด จะกลายเป็นแค่งานเลี้ยงน้ำชาเล็ก ๆ เลยทีเดียว เมื่อสภาพอากาศอยู่ในภาวะวิกฤติในอนาคตอันใกล้
จากรายงานของ UN เกี่ยวกับความยากจนและสิทธิมนุษยชน ได้เตือนถึงการแบ่งแยกทางสภาพอากาศ “Climate apartheid” ซึ่งก็คือคนที่ยากจนที่สุดจะทรมานต่อผลของการล่มสลายของสภาพอากาศ ในขณะที่คนรวยก็จะใช้เงินซื้อหนทางรอดชีวิต ซึ่งเธอมองเห็นว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ที่นี่ ที่อิตาลี
สิ่งที่ลูกเรือ Sea-Watch และเธอในฐานะกัปตัน ได้ลงมือทำเป็นเพียงส่ิงเล็ก ๆ เท่านั้น มันคือการแสดงออกถึงความเท่าเทียม มนุษยธรรม และความยุติธรรม
สิ่งที่เธอได้สัมผัสจากการทำวิจัยในบริเวณขั้วโลก เธอเป็นผู้ชมแถวหน้าที่ได้เห็นผลกระทบของโลกร้อน แต่การเป็นอาสาสมัครของ Sea-Watch เธอเห็นอนาคตที่น่าหดหู่ หากไม่มีการสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นของทุกคน ในการสร้างอนาคตที่เราต้องอาศัยอยู่
- ลด carbon footprint ของตนเอง
- ช่วยเหลือผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในการ integrate เข้ากับสังคมของประเทศที่คุณอยู่
- สนับสนุนกลุ่ม NGO ที่ทำงานเพื่อตอบโจทย์ในการลดโลกร้อนหรือปัญหาอื่น ๆ และ
- โหวตต่อต้านการเมืองที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและการแบ่งแยก
“ในฐานะที่เป็นพลเมืองเยอรมนี ชั้นมีสิทธิพิเศษที่เสี่ยงต่อการถูกจับกุมโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศที่อันตรายหรือถูกปล่อยให้จมน้ำในมหาสมุทร แต่ในขณะเดียวกัน ชั้นในฐานะพลเมืองเยอรมัน ชั้นก็เคยสงสัยนะ ว่าชั้นจะทำอย่างไรในช่วงปี 1930s ในยุคที่การเหยียดผิวกลายเป็นนโยบาย และก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในที่สุด การกระทำของชั้นที่ยืนหยัดอยู่กับ Sea-Watch ชั้นหวังว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าชั้นจะทำอย่างไรหากย้อนเวลากลับไปอยู่ในยุคนั้นได้ คำถามของชั้นต่อคุณในวันนี้ คือคุณจะทำอย่างไร?”